ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: ไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal meningitis)  (อ่าน 16 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 134
  • ขาย เช่า บริการ ลด แลก แจก แถม แห่งใหม่ ลงประกาศได้ไม่จำกัด เว็บลงโฆษณาฟรี ประกาศขายสินค้าออนไลน์ ซื้อขายแลกเปลี่ยน สินค้าใหม่หรือมือสอง ประกาศขายบ้าน ขายรถ.ลงประกาศฟรีออนไลน์ โพสฟรี
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: ไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal meningitis)

ไข้กาฬหลังแอ่น (ไข้กาฬนกนางแอ่น ก็เรียก) หมายถึง โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเมนิงโกค็อกคัส ที่มาของชื่อโรคนี้เข้าใจว่าคงเรียกตามลักษณะอาการของโรค ซึ่งพบว่าถ้าหากเป็นรุนแรงจะมีไข้และผื่นขึ้นลักษณะเป็นจุดแดงจ้ำเขียวหรือดำคล้ำ (จึงเรียกว่า “ไข้กาฬ” ซึ่งแปลว่า ไข้ที่มีผื่นสีดำคล้ำตามผิวหนัง) และผู้ป่วยจะมีอาการคอแข็ง คอแอ่น หลังแอ่น (จึงเรียกชื่อโรคตอนท้ายว่า “หลังแอ่น”) ต่อ ๆ มาจึงเพี้ยนเป็น “ไข้กาฬนกนางแอ่น” โรคนี้ไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อจากนกนางแอ่นแต่อย่างใด

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิดนี้พบได้ประปรายตลอดปี (มีรายงานการป่วยเป็นโรคนี้ประมาณปีละ 20-100 ราย) บางครั้งอาจมีการระบาด จัดเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ พบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเมนิงโกค็อกคัส (meningococcus) ที่มีชื่อเรียกว่าไนซีเรียเมนิงไจทิดิส (Neisseria meningitidis)

เชื้อนี้แบ่งเป็น 13 ชนิด แต่มีอยู่ 5 ชนิดที่สามารถก่อโรคในคน ได้แก่ ชนิด A, B, C, Y และ W135 ซึ่งมีอยู่ในลำคอของคนเรา คนที่แข็งแรง เชื้อจะอาศัยอยู่ในลำคอโดยไม่ก่อให้เกิดโรค เรียกว่า เป็นพาหะ (carrier) ซึ่งสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ ซึ่งพบว่าในคนทั่วไปเป็นพาหะของโรคนี้ประมาณร้อยละ 5 (เคยมีการสำรวจพบว่า เด็กนักเรียนในบางท้องที่จะเป็นพาหะของโรคนี้ถึงร้อยละ 14)

เชื้อนี้สามารถติดต่อโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยหรือพาหะไอหรือจามรด ใช้ของใช้ร่วมกัน (เช่น ดื่มน้ำจากแก้วเดียวกัน สูบบุหรี่มวนเดียวกัน) จูบปากกัน หรือสัมผัสถูกน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยหรือพาหะ

ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เมื่อรับเชื้อเข้าไป ก็จะป่วยเป็นโรคนี้ โดยเชื้อเข้าไปในลำคอก่อน แล้วเข้าไปในกระแสเลือด ไปที่เยื่อหุ้มสมอง ทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ บางรายเชื้อจะเข้าไปอยู่ในอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ และรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ภายในเวลาสั้น ๆ

ระยะฟักตัวของโรค 2-10 วัน (เฉลี่ย 3-4 วัน)

อาการ

อาการสำคัญคือ ไข้ ผื่นขึ้น และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจมีอาการครบทั้ง 3 อย่าง หรือ 2 ใน 3 อย่างนี้ ซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกันไป

เริ่มแรกผู้ป่วยจะมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ เจ็บคอ ปวดเมื่อยมากตามหลังและแขนขาคล้ายไข้หวัดใหญ่ 2-3 วันต่อมาจะมีผื่นขึ้น ลักษณะเป็นจุดแดงจ้ำเขียวแบบไข้เลือดออก มีขนาดต่าง ๆ ตั้งแต่เท่าปลายเข็มหมุดจนเป็นรอยฟกช้ำขนาดใหญ่ซึ่งมีรูปร่างคล้ายดาวกระจาย (เป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้) รอยฟกช้ำพบมากตามขาและเท้า และตรงรอยที่มีแรงกด (เช่น ขอบกางเกง ขอบถุงเท้า) แต่ก็อาจพบที่มือ แขน และลำตัว รวมทั้งตามเยื่อเมือก เช่น เยื่อบุตา ได้

ในรายที่มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย จะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน คอแข็ง (ก้มคอไม่ลง) คอแอ่น หลังแอ่น อาจมีอาการสับสน เพ้อคลั่งร่วมด้วย ผู้ป่วยส่วนน้อยที่อาจมีอาการไม่ค่อยรู้สึกตัว หมดสติ ส่วนในเด็กอาจมีอาการชักร่วมด้วย

ในรายที่เป็นรุนแรงจะมีเลือดออกในลำไส้และต่อมหมวกไต เกิดภาวะช็อก หมดสติ และอาจตายได้ภายใน 1-4 วัน ภาวะรุนแรงมักเกิดในเด็กเล็ก เด็กนักเรียน และคนหนุ่มสาว

อาการของไข้กาฬหลังแอ่น

ภาวะแทรกซ้อน

ในรายที่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมกับการติดเชื้อในเลือด (พบจุดแดงจ้ำเขียวร่วมด้วย) มักมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง คือ ภาวะโลหิตเป็นพิษ และภาวะเลือดจับเป็นลิ่มทั่วร่างกาย (disseminated intravascular coagulation หรือ DIC) ซึ่งทำให้มีเลือดตามอวัยวะต่าง ๆ (เช่น ปอด ทางเดินปัสสาวะ ทางเดินอาหาร ต่อมหมวกไต) และภาวะขาดเลือดและเนื้อตายของปลายนิ้วมือนิ้วเท้า ผู้ป่วยมักเกิดภาวะช็อก และตายในเวลารวดเร็ว

นอกจากนี้ยังอาจมีการติดเชื้อของอวัยวะต่าง ๆ แทรกซ้อน เช่น ข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เป็นต้น

ส่วนภาวะแทรกซ้อนทางสมองในระยะเฉียบพลัน อาจมีภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง สมองบวม (cerebral edema) ภาวะเลือดจับเป็นลิ่มในหลอดเลือดดำสมอง (cerebral venous thrombosis) ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (hydrocephalus) เป็นต้น

ในผู้ป่วยที่รักษาจนรอดชีวิต อาจมีภาวะแทรกซ้อนทางสมอง (ดู “โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ”) ประมาณร้อยละ 10-20 และพบว่าเด็กที่เป็นโรคนี้กลายเป็นหูหนวกร้อยละ 10

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งจะตรวจพบไข้สูง อาจพบอาการสับสน เพ้อคลั่ง ซึม ส่วนอาการหมดสติ หรือชัก อาจพบได้ในผู้ป่วยบางราย

มักตรวจพบจุดแดงจ้ำเขียวตามผิวหนัง เยื่อบุตา

มักพบรอยฟกช้ำรูปดาวกระจายตามขา เท้า ขอบกางเกง ขอบถุงเท้า

ในผู้ใหญ่ มักตรวจพบอาการคอแข็งร่วมด้วย ส่วนในเด็กเล็ก อาจตรวจไม่พบอาการคอแข็ง แต่จะพบกระหม่อมโป่งตึงได้

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการเจาะหลัง จะพบความดันน้ำไขสันหลังสูง น้ำไขสันหลังขุ่น ตรวจพบเชื้อเมนิงโกค็อกคัสในน้ำไขสันหลัง

นอกจากนี้ อาจนำเลือดและสารน้ำที่เจาะจากรอยจ้ำเขียวที่ผิวหนังไปตรวจหาเชื้อโดยการย้อมสีหรือเพาะเชื้อ

บางรายแพทย์อาจทำการถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อค้นหาความผิดปกติในสมอง

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล ให้การรักษาตามอาการและรักษาแบบประคับประคอง และให้ยาปฏิชีวนะซึ่งมีให้เลือกหลายชนิด(เช่น เพนิซิลลินจี, เซทริอะโซน)

ผลการรักษา ขึ้นกับความรุนแรงของโรค ถ้าเป็นไม่รุนแรง (ไม่มีการติดเชื้อในเลือดร่วมด้วย) และได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม ก็มักจะหายเป็นปกติ แต่ถ้าเป็นรุนแรงหรือได้รับการรักษาล่าช้า ก็อาจเสียชีวิตหรือมีภาวะแทรกซ้อนทางสมองตามมา โดยเฉลี่ยมีอัตราตายประมาณร้อยละ 15-20

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะมาก ก้มคอไม่ลง (คอแข็ง) หลังแอ่น อาเจียนรุนแรง ซึม ชัก หรือหมดสติ  หรือมีไข้ร่วมกับมีรอยฟกช้ำจ้ำเขียว หรืออาเจียนเป็นเลือด ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

เมื่อพบว่าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด

ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด

การป้องกัน

1. สำหรับผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคนี้ เช่น คนที่อยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วย นักเรียนที่อยู่ในห้องเดียวกับผู้ป่วย ทหารที่อยู่ในค่ายพักเดียวกับผู้ป่วย ผู้ต้องขังที่อยู่ในห้องขังเดียวกับผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วย เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์ แพทย์จะให้ยาชนิดใดชนิดหนึ่งกินป้องกันไม่ให้เป็นโรค เช่นไรแฟมพิซิน, ไซโพรฟล็อกซาซิน, เซฟทริอะโซน

2. สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ในเขตพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้ (เช่น ผู้ที่เดินทางไปแสวงบุญที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย, นักท่องเที่ยวที่จะไปในทวีปแอฟริกา เช่น ซูดาน เอธิโอเปีย ไนจีเรีย เป็นต้น) หรือผู้ที่ไปศึกษาต่อในประเทศแถบยุโรปและอเมริกาซึ่งมีข้อกำหนดให้ต้องฉีดวัคซีนชนิดนี้ ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้กาฬหลังแอ่น (meningococcal vaccine) ซึ่งสามารถรับบริการได้ ณ สถานที่ต่อไปนี้

    สถาบันบำราศนราดูร จังหวัดนนทบุรี
    ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ สนามบินสุวรรณภูมิ
    ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าเรือกรุงเทพคลองเตย
    กลุ่มงานควบคุมโรคระหว่างประเทศ ในบริเวณตรวจคนเข้าเมือง ถนนสาทรใต้
    สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้

3. สำหรับคนทั่วไป ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกัน เนื่องจากโรคนี้พบได้น้อย มีโอกาสเสี่ยงไม่มาก ถ้าบังเอิญมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ก็สามารถใช้ยาป้องกันได้ เหตุผลอีกข้อหนึ่งก็คือ วัคซีนที่มีใช้อยู่ในประเทศไทยป้องกันเชื้อชนิด A, C, Y, W135 แต่ไม่ได้ป้องกันชนิด B ซึ่งเป็นเชื้อที่พบมากในบ้านเรา ดังนั้นฉีดวัคซีนไปก็ไม่อาจป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อชนิด B

สำหรับคนทั่วไป แนะนำให้ปฏิบัติตามหลักการป้องกันโรคติดต่อทางระบบหายใจ ดังนี้

    หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีผู้คนแออัดหรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก
    สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด
    อย่าไอ จาม รดกัน
    อย่าดื่มน้ำแก้วเดียวกับผู้อื่น หรือสูบบุหรี่มวนเดียวกับผู้อื่น
    ล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ เมื่อสัมผัสถูกน้ำมูก น้ำลายของผู้อื่น

ข้อแนะนำ

1. โรคนี้ถึงแม้จะพบได้น้อย แต่ถ้าเป็นแล้วมักมีความรุนแรง หากมีอาการไข้ ผื่นขึ้น (จุดแดงจ้ำเขียว) ร่วมกับอาการปวดศีรษะและอาเจียน ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยและการรักษาแต่เนิ่น ๆ

2. โรคนี้นอกจากจะติดจากผู้ป่วยโดยตรงแล้ว ก็ยังอาจติดจากเสมหะและน้ำลายของผู้ที่เป็นพาหะ (ซึ่งไม่มีอาการ) ได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย คนทั่วไปควรเคร่งครัดในการปฏิบัติตัวตามหลักการป้องกันโรคติดต่อทางระบบหายใจ

3. ควรแนะนำผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยไปรับยาป้องกันจากสถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด