โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Melanoma)Melanoma เป็นโรคมะเร็งผิวหนังชนิดหนึ่งซึ่งพบได้น้อยแต่มีความรุนแรงมากกว่ามะเร็งผิวหนังชนิดอื่น เริ่มแรกจะส่งผลให้เกิดจุดบนผิวหนัง ดูคล้ายไฝที่มีลักษณะผิดปกติและมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว หากตรวจพบตั้งแต่ในระยะแรกก็จะรักษาให้หายได้ แต่หากล่าช้าเซลล์มะเร็งอาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายจนทำให้ยากต่อการรักษา
โดยโรคมะเร็งผิวหนัง Melanoma แบ่งออกตามลักษณะของมะเร็งได้เป็น 5 ชนิด ดังนี้
ชนิดแผลตื้น (Superficial Spreading Melanoma) พบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะในคนที่มีผิวขาวมากและตกกระ มะเร็งชนิดนี้จะแพร่กระจายที่ผิวหนังชั้นนอกมากกว่า จึงมักไม่เป็นอันตราย แต่บางรายอาจกระจายลึกลงไปที่ผิวหนังชั้นอื่น และลามไปยังอวัยวะต่าง ๆ ได้
ชนิดตุ่มนูน (Nodular Melanoma) มีลักษณะเป็นตุ่มนูนสีแดงหรือดำที่มีเลือดและของเหลวซึมออกมา มักพบได้บริเวณศีรษะ คอ หน้าอก หรือหลัง มะเร็งชนิดนี้จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและสามารถแพร่กระจายลงไปในผิวหนังชั้นที่อยู่ลึกได้ จึงต้องรีบรักษาเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย
ชนิดเลนทิโก มาลิกนา (Lentigo Maligna Melanoma) มักเกิดบริเวณที่โดนแสงแดดบ่อย ๆ อย่างใบหน้า และพบได้ในผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาชีพหรือทำกิจกรรมที่ต้องอยู่กลางแดดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานมาก่อน ในระยะเริ่มต้นอาจมีลักษณะคล้ายกระบนใบหน้า แล้วขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งเริ่มมีรูปร่างและสีที่ผิดปกติ พื้นผิวไม่สม่ำเสมอ จากนั้นจะค่อย ๆ กระจายลงสู่ผิวหนังชั้นที่อยู่ลึกลงไป และอาจก่อให้เกิดตุ่มนูนตามมา
ชนิดเกิดที่มือและเท้า (Acral Lentiginous Melanoma) เป็นชนิดที่พบได้น้อย มีลักษณะเป็นเนื้องอก ปื้นสีดำหรือสีน้ำตาลคล้ายกระ มักพบในผู้ที่มีผิวสีคล้ำ และเกิดขึ้นบริเวณฝ่ามือหรือฝ่าเท้าเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ อาจพบบริเวณรอบเล็บด้วย โดยเฉพาะบริเวณนิ้วหัวแม่มือและหัวแม้เท้า
ชนิดไม่สร้างเม็ดสี (Amelanotic Melanoma) พบได้น้อยและมีอาการที่เด่นชัด คือ ผิวหนังบริเวณที่เป็นมะเร็งจะไม่เป็นสีดำ แต่จะเป็นสีแดงหรือสีชมพู ลักษณะขอบแผลมีสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทา และเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย
อาการของมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
Melanoma เกิดขึ้นได้กับผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย แต่มักพบบริเวณที่โดนแสงแดดบ่อย ๆ เช่น หลัง หน้าอก ขา แขน คอ และใบหน้า เป็นต้น โดยในระยะเริ่มแรกผู้ป่วยอาจคิดว่าเป็นไฝธรรมดา เนื่องจากมีลักษณะคล้ายกัน แต่หากเป็นมะเร็ง Melanoma ไฝที่เกิดขึ้นจะมีความผิดปกติที่สังเกตได้ ดังต่อไปนี้
ไฝมีรูปร่างผิดปกติ และมีลักษณะที่แตกต่างกันมากปรากฏภายในไฝเม็ดเดียวกัน
ขอบไฝไม่เรียบ
สีของไฝผิดปกติ มีหลายสีผสมกัน เช่น ครึ่งหนึ่งสีน้ำตาล อีกครึ่งหนึ่งสีดำ เป็นต้น
ไฝมีขนาดใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร
ลักษณะของไฝเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีสีหรือรูปร่างผิดไปจากเดิม มีอาการผิดปกติอื่น ๆ อย่างอาการคันหรือมีเลือดออกมาจากไฝ เป็นต้น
ดังนั้น หากพบไฝที่มีลักษณะผิดปกติดังข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจโดยละเอียด เพราะหากปล่อยไว้ มะเร็งอาจแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ และส่งผลให้รักษาได้ยาก
สาเหตุของมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
สาเหตุสำคัญที่กระตุ้นให้เกิด Melanoma คือ การเผชิญรังสีอัลตราไวโอเลตที่พบในแสงแดด เพราะรังสีดังกล่าวจะเข้าไปทำลายเซลล์ผิวหนัง และทำให้ยีนซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เซลล์ผิวหนังที่เสียหายกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด
นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้เสี่ยงเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง Melanoma มากยิ่งขึ้น ได้แก่
มีไฝจำนวนมากกว่า 50 จุด หรือไฝมีลักษณะผิดปกติ
มีผิวขาวซีดและผิวหนังตกกระอย่างมาก
มีอายุมากขึ้น
มีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งชนิดนี้ โดยเฉพาะญาติใกล้ชิด
เคยเป็นโรคมะเร็งผิวหนังมาก่อน
เคยมีผิวไหม้แดดอย่างรุนแรง
เคยเข้ารับการรักษาด้วยรังสีบำบัด
เคยได้รับแสงยูวีสังเคราะห์จากเครื่องมือหรืออุปกรณ์บางชนิด เช่น เตียงอาบแดด หลอดไฟแสงยูวี เป็นต้น
มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ที่ต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะทำให้ร่างกายอ่อนแอและเสี่ยงเกิดมะเร็งผิวหนังได้หากสัมผัสแสงแดดเป็นเวลานาน ๆ
การวินิจฉัยมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
ในเบื้องต้น หากพบไฝที่มีลักษณะผิดปกติหรือไฝมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียด โดยแพทย์จะสังเกตความผิดปกติของผิวหนังและตรวจร่างกาย หากแพทย์สงสัยว่าความผิดปกติดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณของมะเร็งผิวหนัง อาจให้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งผิวหนังโดยเก็บ
ตัวอย่างชิ้นเนื้อด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อด้วยวิธีการเจาะ แพทย์จะใช้เครื่องมือที่เป็นใบมีดที่มีลักษณะกลมตัดตัวอย่างไฝที่ผิดปกติออกไปเป็นรูปวงกลมและนำไปตรวจ
การตัดชิ้นเนื้อบางส่วนไปตรวจ แพทย์จะเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อของผิวหนังบริเวณที่มีความผิดปกติมากที่สุดไปส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
การตัดชิ้นเนื้อทั้งหมดไปตรวจ เป็นวิธีการตัดผิวหนังบริเวณที่ผิดปกติออกไปตรวจทั้งหมด
ทั้งนี้ วิธีการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของผิวหนังด้วย หากไฝหรือผิวหนังที่ผิดปกติมีขนาดเล็ก แพทย์อาจเก็บชิ้นเนื้อทั้งหมดไปตรวจ แต่หากมีขนาดใหญ่ก็อาจจำเป็นต้องเก็บชิ้นเนื้อเพียงบางส่วนไปตรวจแทน ซึ่งหากผลตรวจชี้ว่าผู้ป่วยเป็น Melanoma แพทย์จะวิเคราะห์ว่ามะเร็งอยู่ในระยะใด และอาจตัดต่อมน้ำเหลืองบางส่วนไปตรวจดูว่ามีการแพร่กระจายหรือไม่ เพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด
การรักษามะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
เมื่อผลตรวจระบุว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งผิวหนังชนิด Melanoma แพทย์จะเริ่มรักษาทันที ซึ่งจะเลือกวิธีการรักษาโดยพิจารณาจากระยะและขนาดของมะเร็ง สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย และปัจจัยอื่น ๆ
วิธีการรักษาที่แพทย์มักนำมาใช้ ได้แก่
การผ่าตัดผิวหนัง เป็นวิธีหลักที่ใช้รักษา Melanoma โดยแพทย์จะผ่าตัดนำผิวหนังส่วนที่เป็นมะเร็งออก และนำผิวหนังหรือเนื้อเยื่อผิวหนังส่วนอื่นมาปิดแทน วิธีนี้จะช่วยให้กำจัดเนื้อร้ายออกไปให้หมด แต่ก็ต้องติดตามเฝ้าระวังอาการหลังการรักษาอย่างน้อย 5 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก
การผ่าตัดต่อมน้ำเหลือง ในกรณีที่สงสัยว่ามีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง แพทย์จะตัดต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ผิวหนังบริเวณที่เป็นมะเร็งไปตรวจ รวมทั้งอาจตัดต่อมน้ำเหลืองที่เหลือออกหากพบการแพร่กระจายของมะเร็ง
รังสีบำบัด หาก Melanoma แพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย แพทย์อาจใช้วิธีนี้ในการกำจัดเซลล์มะเร็ง แต่มักทำหลังจากผ่าตัดนำต่อมน้ำเหลืองออกแล้ว โดยรังสีที่นำมาใช้ในการรักษานั้นเป็นรังสีที่มีพลังงานสูง เช่น รังสีเอกซเรย์ เป็นต้น
เคมีบำบัด เป็นการใช้ยาเพื่อช่วยยับยั้งและกำจัดเซลล์มะเร็งให้หมดไปจากร่างกาย มีทั้งยาชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำบริเวณแขนและขา และยาสำหรับรับประทาน ซึ่งแพทย์อาจให้ใช้แบบใดแบบหนึ่งหรือใช้ควบคู่กันก็ได้
ภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการรักษาโดยให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ป่วยเองต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง ซึ่งแพทย์จะฉีดสารเข้าไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และปล่อยให้ภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์มะเร็งเอง ทว่าการรักษาด้วยวิธีนี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง คือ มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น หนาวสั่น เป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น
การใช้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง เป็นการใช้ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งและป้องกันการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง แต่จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมียีนกลายพันธุ์เท่านั้น
ทั้งนี้ หากมะเร็ง Melanoma แพร่กระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายก็อาจเกิดเนื้องอกมะเร็งตามมาด้วย ซึ่งบางรายก็รักษาให้หายได้ แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงมากจนไม่สามารถรักษาให้หายได้ แพทย์จะรักษาแบบประคับประคองอาการ และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยแทน
ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
แม้จะรักษา Melanoma จนหายดีแล้ว แต่ผู้ป่วยก็ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างการกลับมาเป็นซ้ำที่บริเวณเดิม เกิดมะเร็งผิวหนังบริเวณอื่น หรือเป็นโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ ได้ ซึ่งอาจมีโอกาสเสี่ยงสูงขึ้นหากมะเร็ง Melanoma ที่เกิดขึ้นครั้งก่อนมีความรุนแรงและมีการแพร่กระจายมาก
ดังนั้น หลังหายดีแล้ว แพทย์ผู้ทำการรักษาอาจต้องประเมินความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำของ Melanoma ด้วย หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูง แพทย์อาจนัดตรวจร่างกายเป็นระยะเพื่อเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด ส่วนผู้ป่วยเองก็ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังอย่างการรับรังสียูวีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
การป้องกันมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
Melanoma ป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เซลล์ผิวหนังเกิดความเสียหาย ซึ่งทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง รังสียูวีที่มากับแสงแดดเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิด Melanoma ดังนั้น ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด สวมหมวกและแว่นตากันแดดเมื่อต้องออกไปข้างนอกในเวลากลางวัน รวมทั้งทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไปในทุก 2 ชั่วโมง
เลี่ยงการอาบแดดหรือรับแสงจากหลอดไฟยูวีโดยไม่จำเป็น เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้มีรังสียูวีที่เข้มข้น จึงเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดมะเร็งผิวหนัง Melanoma ได้
สังเกตความเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติของผิวหนังอยู่เสมอ หากมีกระ ไฝ ตุ่มเนื้อ หรือปานที่ผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียด
ตรวจคัดกรองมะเร็งผิวหนัง ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งผิวหนัง หรือมีญาติใกล้ชิดเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจคัดกรองมะเร็งชนิดนี้