ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia)  (อ่าน 39 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 133
  • ขาย เช่า บริการ ลด แลก แจก แถม แห่งใหม่ ลงประกาศได้ไม่จำกัด เว็บลงโฆษณาฟรี ประกาศขายสินค้าออนไลน์ ซื้อขายแลกเปลี่ยน สินค้าใหม่หรือมือสอง ประกาศขายบ้าน ขายรถ.ลงประกาศฟรีออนไลน์ โพสฟรี
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia)

ปกติ หัวใจของคนเรา (ชีพจร) จะเต้นประมาณ 60-100 ครั้ง/นาที (ส่วนใหญ่ 72-80 ครั้ง/นาที) จังหวะสม่ำเสมอ และแรงเท่ากันทุกครั้ง

ภายหลังการออกกำลังกาย ตื่นเต้นตกใจ ดื่มชากาแฟ เครื่องดื่มเข้ากาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ กินยากระตุ้น (เช่น ยาแก้หืด ยาแก้หวัด หรือสูโดเอฟีดรีน แอมเฟตามีน ยาลดความอ้วน) หรือเป็นไข้ ชีพจรอาจเต้นเร็ว (> 100 ครั้ง/นาที) ได้ ซึ่งถือว่าเป็นภาวะปกติธรรมดา นอกจากนี้ผู้ที่มีภาวะช็อกก็มักมีชีพจรเต้นเร็วแต่เบา

ผู้ที่ออกกำลังสม่ำเสมอ ชีพจรอาจเต้นช้า (< 60 ครั้ง/นาที) ได้ แสดงว่าร่างกายอยู่ในภาวะแข็งแรง (ฟิต) เต็มที่

แต่ในผู้ที่มีความผิดปกติของหัวใจก็อาจมีชีพจรผิดปกติ เช่น เต้นช้าไป เร็วไป หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ หรือไม่เป็นจังหวะ จึงเรียกรวม ๆ ว่า โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจแสดงอาการได้หลายอย่างด้วยกัน


สาเหตุ

ถ้าหัวใจเต้นช้ากว่า 50 ครั้ง/นาที เรียกว่า หัวใจเต้นช้า (bradycardia) อาจพบเป็นปกติในนักกีฬาหรือคนที่ร่างกายฟิต อาจเกิดจากภาวะกระตุ้นประสาทเวกัส (vagus) ซึ่งทำให้ชีพจรเต้นช้า เช่น อาการเจ็บปวด หิวข้าว ร่างกายเหนื่อยล้า การกลืน อาการอาเจียนหรือท้องเดิน เป็นต้น อาจพบเป็นภาวะผิดปกติในผู้ที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด หรืออาจเกิดจากพิษของยา (เช่น ไดจอกซิน ยาปิดกั้นบีตา ยาอนุพันธ์ฝิ่น ยานอนหลับ ยาฆ่าแมลงออร์แกโนฟอสเฟต) พิษปลาปักเป้า พิษคางคก ภาวะตัวเย็นเกิน

ถ้าหัวใจเต้นเร็วกว่า 120 ครั้ง/นาที จังหวะอาจปกติหรืออาจไม่สม่ำเสมอและแรงไม่เท่ากัน* อาจพบในผู้ที่เป็นโรคหัวใจรูมาติก โรคหัวใจขาดเลือด ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน  พิษยาไดจอกซิน

ถ้าหัวใจเต้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ (60-100 ครั้ง/นาที) แต่มีบางจังหวะที่เต้นรัว** หรือวูบหายไป*** ก็อาจพบเป็นปกติในคนบางคน แต่ก็อาจพบในคนที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจรูมาติก หรือเกิดจากบุหรี่ ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ ยากระตุ้น หรือเกิดจากพิษของยา (เช่น ไดจอกซิน)

*หัวใจเต้นเร็ว (tachycardia) มีภาวะที่พบบ่อย ได้แก่

- ภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว (atrial fibrillation/AF) มักมีชีพจรเต้น > 120 ครั้ง/นาที (อาจพบระหว่าง 80-180 ครั้ง/นาที) จังหวะไม่สม่ำเสมอ พบบ่อยในผู้ที่มีอายุมาก อาจมีสาเหตุจากโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจรูมาติก หัวใจอักเสบ (carditis) กล้ามเนื้อหัวใจพิการ (cardiomyopathy) หัวใจวาย ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน เนื้องอกต่อมหมวกไต-ฟีโอโครโมไซโตมา ภาวะพิษแอลกอฮอล์ (alcohol intoxication) สิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด (pulmonary embolism)

- ภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วชนิดโรคกลับฉับพลัน (paroxysmal atrial tachycardia/PAT) ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นโดยไม่มีความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ ส่วนน้อยอาจเกิดจากโรคหัวใจขาดเลือด หรือพิษยาไดจอกซิน มักมีชีพจรเต้น 160-220 ครั้ง/นาที และเต้นสม่ำเสมอโดยเกิดขึ้นฉับพลัน และหายฉับพลัน นานครั้งละไม่กี่นาทีถึงหลายชั่วโมง มีอาการกำเริบเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาทำงานหนักหรือออกกำลังหักโหม ผู้ป่วยจะมีอาการใจสั่นอย่างมาก อ่อนเพลีย ศีรษะโหวง ๆ เหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก ส่วนใหญ่ไม่มีอันตรายร้ายแรง และอาการหัวใจเต้นเร็วจะทุเลาไปได้เอง มักทำให้ผู้ป่วยและญาติตกใจและไม่สุขสบายขณะมีอาการ และอาจทำให้แพทย์เข้าใจผิดว่าเป็นโรควิตกกังวลเนื่องจากเมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์มักจะเป็นช่วงอาการสงบแล้ว ซึ่งจะตรวจไม่พบอาการผิดปกติใดๆ

**หัวใจห้องบนเต้นก่อนกำหนด(atrial premature contraction/APC หรือ premature atrial contraction/PAC)

ทำให้การเต้นของหัวใจบางจังหวะเร็วกว่าปกติ คลำได้ชีพจรเต้นรัวติดกัน 2 จังหวะ มักพบในผู้สูงอายุที่สุขภาพแข็งแรงดี ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแสดง (นอกจากตรวจพบจากการคลำชีพจรหรือฟังเสียงหัวใจ) ยาหรือสารกระตุ้น เช่น กาเฟอีน บุหรี่ แอลกอฮอล์ ยาสูโดเอฟีดรีน ยาแก้หืด ยาลดความอ้วน อาจทำให้อาการกำเริบมากขึ้น น้อยรายที่พบว่ามีความสัมพันธ์กับภาวะความดันในปอดสูง (pulmonary hypertension) จากโรคทางปอดหรือหัวใจ

***หัวใจห้องล่างเต้นก่อนกำหนด (ventricular premature contraction/VPC หรือ premature ventricular contraction/PVC) ทำให้การเต้นของหัวใจ (ชีพจร) วูบหายหรือเว้นวรรคไปเป็นบางจังหวะ มักพบในผู้สูงอายุ อาจเกิดจากความเครียดทางร่างกายหรือจิตใจ ยาหรือสารกระตุ้น หรืออาจพบร่วมกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ภาวะหัวใจวาย หรือโรคลิ้นหัวใจพิการ ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการและไม่มีอันตรายร้ายแรง ยกเว้นถ้าพบร่วมกับโรคหัวใจ


อาการ

ในรายที่เป็นไม่รุนแรง มักไม่รู้สึกว่ามีอาการผิดปกติแต่อย่างใด บางรายอาจเพียงรู้สึกใจเต้นรัวหรือใจวูบหายไปบางจังหวะ โดยไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย และยังสามารถทำงานได้ตามปกติ

ในรายที่ชีพจรเต้นช้ามาก อาจมีอาการอ่อนเพลีย สับสน เวียนศีรษะ เป็นลม

ในรายที่ชีพจรเต้นเร็วมาก อาจมีอาการอ่อนเพลีย ใจสั่น หอบเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอก เวียนศีรษะ ศีรษะโหวง ๆ เป็นลม

นอกจากนี้ อาจมีอาการแสดงของโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น เจ็บหน้าอกในโรคหัวใจขาดเลือด มือสั่น เหงื่อออก น้ำหนักลด ในภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน


ภาวะแทรกซ้อน

มักไม่พบภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยที่แข็งแรงและไม่มีโรคหัวใจร่วมด้วย

ภาวะแทรกซ้อนมักเกิดในผู้ป่วยที่มีชีพจรเต้นช้าหรือเร็วมากและต่อเนื่องนาน ๆ เช่น หัวใจวาย ความดันโลหิตตก เป็นลม

ในรายที่หัวใจเต้นช้ามาก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากทางเดินประจุไฟฟ้าหัวใจติดขัด (heart block) เช่น ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตาย ก็อาจขาดเลือดไปเลี้ยงสมองทำให้หมดสติและชักได้

ที่สำคัญในรายที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว (ชีพจร 80-180 ครั้ง/นาที จังหวะไม่สม่ำเสมอและชีพจรแรงบ้างค่อยบ้าง) อาจเกิดลิ่มเลือดในหัวใจแล้วหลุดลอยไปอุดตันหลอดเลือดต่าง ๆ รวมทั้งหลอดเลือดสมอง ทำให้เป็นอัมพาตครึ่งซีกแทรกซ้อนได้ ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากให้การรักษาภาวะนี้จนการเต้นของหัวใจกลับเป็นปกติ ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดตันหลอดเลือดสมอง (อ่านเพิ่มเติมที่ โรคหลอดเลือดสมอง สมองขาดเลือดชั่วขณะ อัมพาตครึ่งซีก) มากกว่าคนทั่วไป 5-8 เท่า


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

ในรายที่เป็นไม่รุนแรง (มีสาเหตุจากหัวใจห้องบนหรือห้องล่างเต้นก่อนกำหนด) อัตราการเต้นของชีพจรมักจะอยู่ในเกณฑ์ปกติคือ 60-100 ครั้ง/นาที แต่จะพบว่ามีบางจังหวะที่เต้นรัวหรือวูบหาย อาจพบ 1-2 ครั้ง/นาที ถ้าเป็นมากก็อาจพบได้ถี่กว่านี้

ส่วนผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า มักจะพบชีพจรเต้น < 50 ครั้ง/นาที ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็วจะพบชีพจรเต้น > 120 ครั้ง/นาที จังหวะอาจเป็นปกติหรืออาจเต้นไม่สม่ำเสมอ ไม่เป็นจังหวะ ชีพจรแรงบ้างค่อยบ้าง ฟังเสียงหัวใจอาจพบเสียงดังไม่เท่ากันและไม่เป็นจังหวะ อาจพบความดันโลหิตต่ำ บางครั้งอาจตรวจพบอาการของโรคที่เป็นสาเหตุหรือภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน หัวใจมีเสียงฟู่ในโรคหัวใจรูมาติก เท้าบวม และฟังปอดมีเสียงกรอบแกรบในภาวะหัวใจวาย แขนขาอ่อนแรงซีกหนึ่งในผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดสมองแทรกซ้อน เป็นต้น

แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์ ตรวจเลือด และตรวจพิเศษอื่น ๆ


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ในรายที่อัตราชีพจรอยู่ในเกณฑ์ปกติ (60-100 ครั้ง/นาที) เพียงแต่ตรวจพบว่าชีพจรเต้นรัวหรือวูบหายเป็นบางจังหวะ และผู้ป่วยรู้สึกสบายดี น่าจะเกิดจากภาวะหัวใจห้องบนหรือห้องล่างเต้นก่อนกำหนด ก็ไม่ต้องให้ยารักษา เพียงแต่แนะนำให้ผู้ป่วยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด หลีกเลี่ยงยาและสารกระตุ้น (งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ กาเฟอีน ยาแก้หืด ยาแก้หวัด ยาลดความอ้วน เป็นต้น)

แต่ถ้ามีอาการชีพจรเต้นรัวหรือวูบหายแบบถี่ ๆ นาทีละหลายครั้ง หรือชีพจรเต้นจังหวะไม่สม่ำเสมอและแรงไม่เท่ากันตลอด (อาจเป็นภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว โดยมีอัตราชีพจร < 100 ครั้ง/นาที ก็ได้) หรือมีอาการเจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย หรือฟังหัวใจได้ยินเสียงฟู่ แพทย์ก็จะทำการตรวจหาสาเหตุ

สำหรับผู้ที่มีภาวะหัวใจห้องล่างเต้นก่อนกำหนด อาจพบว่ามีโรคหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย หรือลิ้นหัวใจพิการร่วมด้วย ถ้าตรวจพบ แพทย์ก็จะทำการรักษาโรคเหล่านี้ ในรายที่มีโรคลิ้นหัวใจพิการ (ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็วและอาจทำให้เสียชีวิตฉับพลันได้) แพทย์จะให้ยาปิดกั้นบีตา เช่น โพรพราโนลอลกินควบคุมอาการ

2. ในรายที่ชีพจร < 50 ครั้ง/นาที หรือ > 120 ครั้ง/นาที หรือชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ และแรงไม่เท่ากันตลอด ถ้าพบว่าผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกมาก หายใจหอบเหนื่อย แขนขาอ่อนแรงข้างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันเป็นลมหมดสติ หรือชัก แพทย์จะรีบแก้ไขภาวะแทรกซ้อนและให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจรูมาติก พิษจากยา (เช่น ไดจอกซิน) พร้อมทั้งให้การรักษาเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจให้กลับเป็นปกติ ดังนี้

    ในรายที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า แพทย์อาจให้ยากระตุ้น ได้แก่ อะโทรพีน ถ้าไม่ได้ผลหรือเป็นรุนแรง อาจจำเป็นต้องผ่าตัดใส่ตัวคุมจังหวะหัวใจ (cardiac pacemaker) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ผลิตประจุไฟฟ้ากระตุ้นการเต้นของหัวใจ
    ในรายที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว จะต้องรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล ถ้ามีภาวะฉุกเฉินรุนแรงก็รีบให้การแก้ไข และพิจารณาให้การรักษาเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจให้กลับเป็นปกติ (cardioversion) โดยการใช้เครื่องช็อกหัวใจ (defibrillator) หรือการใช้ยา ร่วมกับการให้สารกันเลือดเป็นลิ่ม (เช่น เฮพาริน วาร์ฟาริน) ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้วิธีการรักษาและให้ยาตามระยะของโรคที่เป็น และความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดหลุดอุดตันหลอดเลือดสมอง

หลังจากนั้นแพทย์จะให้ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ (antiarrhythmic) และสารกันเลือดเป็นลิ่ม (โดยให้กินวาร์ฟารินในรายที่มีความเสี่ยงสูงหรือแอสไพรินในรายที่มีความเสี่ยงต่ำ) อย่างต่อเนื่อง
 

บางรายแพทย์อาจให้การรักษาด้วยวิธีตัดปมประจุไฟฟ้าเอวี (atrioventricular/AV node ablation) โดยการแยงสายอิเล็กโทรดเข้าไปสร้างความร้อนทำลายเนื้อเยื่อ (catheter radiofrequency ablation) และถ้าการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ได้ผล ก็จะทำการผ่าตัดเนื้อเยื่อหัวใจส่วนที่เป็นต้นตอของโรค

    ในรายที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วชนิดโรคกลับฉับพลัน (PAT) แพทย์จะให้ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะควบคุมอาการ เช่น ยาปิดกั้นบีตา ผู้ป่วยส่วนน้อยที่ใช้ยาไม่ได้ผล อาจต้องทำการรักษาด้วยเครื่องช็อกหัวใจ หรือตัดปมประจุไฟฟ้าเอวีด้วยการใส่สายอิเล็กโทรด


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น  มีอาการหัวใจเต้นรัว เต้นเร็ว หรือช้ากว่าปกติ  เต้นจังหวะไม่สม่ำเสมอ หรือมีจังหวะเต้นกระตุก หรือวูบหายเป็นบางจังหวะ ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ควรดูแลรักษา ดังนี้

1. ดูแลรักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 

2. ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด

3. ควรปฏิบัติตัว ดังนี้

    งดการบริโภคสุรา ยาสูบ ชา  กาแฟ
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
    หลีกเลี่ยงการทำงานหรือการออกกำลังที่หักโหม
    หลีกเลี่ยงการซื้อยากินเอง เพราะอาจมีผลทำให้โรคกำเริบ

4. ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการเจ็บจุกหน้าอกกำเริบ หรือ รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หรือเท้าบวม
    มีอาการจุกแน่นลิ้นปี่คล้ายโรคกระเพาะ และกินยารักษาโรคกระเพาะไม่ทุเลา
    กินยาแล้วไม่ทุเลา หรือ กลับมีอาการกำเริบใหม่
    ขาดยาหรือยาหาย
    กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

อาจป้องกันโรคนี้ด้วยการปฏิบัติตัว ดังนี้

    หาทางป้องกันไมให้เป็นโรคหัวใจขาดเลือด
    ออกกำลังกายเป็นประจำ
    ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
    หลีกเลี่ยงการบริโภคสุรา ยาสูบ ชา กาแฟ สารกระตุ้นหัวใจ
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด

ข้อแนะนำ

ผู้ป่วยที่บ่นว่ามีอาการใจสั่น ใจหวิว อาจเกิดจากโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือสาเหตุอื่น ๆ แพทย์จะซักถามอาการ ตรวจชีพจร (ควรจับชีพจรนาน 1-2 นาที เป็นอย่างน้อย) และใช้เครื่องฟังตรวจหัวใจ ถ้าชีพจรช้าหรือเร็วกว่าปกติหรือไม่สม่ำเสมอ ก็แสดงว่าเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะจริง ถ้าชีพจร 60-100 ครั้ง/นาที และเต้นปกติ อาจเกิดจากโรควิตกกังวล หรือโรคแพนิก สาเหตุของอาการใจสั่น (ตรวจอาการใจสั่น)